วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Latest:
สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน
articleกิจกรรมสำนักงาน

อาคารเก่า 160 ปี ท่าเรือบ้านท่าโป่งแดง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

      ปรับปรุงภูมิทัศน์และอาคารท่าเรือประวัติศาสตร์บ้านท่าโป่งแดง 160 ปี

          อาคารท่าเรือบ้านท่าโป่งแดง ตั้งอยู่ที่บ้านท่าโป่งแดง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน  เป็นอาคารเก่าแก่ อายุกว่า 160ปี สร้างขึ้นโดยบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ที่ได้รับสัมปทานการทำไม้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (Colonial) ภายหลังจากสิ้นสุดสัมปทานการทำไม้ อาคารแห่งนี้ได้กลายเป็นวัด โรงเรียน และศาลาที่พักของสำหรับผู้คนในชุมชนบ้านท่าโป่งแดงและผู้คนที่สัญจรไปมา เพื่อค้าขายระหว่างเมืองแม่ฮ่องสอน-เมียนมา ในอดีตผู้คนในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนจะเดินทางค้าขายกับประเทศเมียนมา เพราะการสัญจรทางถนนไปยังเชียงใหม่เป็นสิ่งที่ยากลำบาก อีกทั้งอาคารแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าพาราละแข่งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ได้อัญเชิญล่องเรือตามลำน้ำปายมาจำนวน9ชิ้น ก่อนนำไปประดิษฐาน ณ วัดหัวเวียง จากกาลเวลาที่ผ่านเลยไปทำให้ท่าเรือประวัติศาสตร์และอาคารดังกล่าวถูกทิ้งร้างและชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก แต่ความโดดเด่นของรูปทรงตัวอาคารยังคงตั้งอยู่อย่างงดงามภายใต้กาลเวลา 100 กว่าปี

          การอนุรักษ์อาคารและพื้นที่ประวัติศาสตร์ จึงเป็นแนวคิดที่เริ่มต้นขึ้น โดยได้เข้าสำรวจตัวอาคาร พบว่า โครงสร้างหลักของตัวอาคารเสา คาน พื้น ถูกสร้างขึ้นจากไม้เนื้อแข็งยังคงมีความสมบูรณ์ 60% องค์ประกอบอื่นของตัวอาคารบางส่วนถูกทำลายจากธรรมชาติและกาลเวลา การก่อสร้างเป็นการเข้าลิ่มไม้ ไม้ทุกแผ่นที่เป็นโครงสร้างหลักล้วนมีการไสบังใบเพื่อเก็บมุม รวมถึงลายฉลุเชิงชายที่เป็นเอกลักษณ์ แนวคิดการเก็บรักษาอาคารและพัฒนาให้พื้นที่ดังกล่าวกลับมามีชีวิตชีวาคู่กับเมืองแม่ฮ่องสอน จึงเริ่มต้นขึ้น โดยได้รับคำแนะนำจากท่านผู้ตรวจราชการฯ และสำนักศิลปากร ให้ดำเนินการอนุรักษ์ภายใต้หลักการของความแท้ (authenticity) เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียคุณค่าของตัวอาคารไป โดยได้อนุรักษ์รูปแบบอาคาร (conservation style) การอนุรักษ์ฝีมือช่าง (Conservation of craftsmanship) และการอนุรักษ์วัสดุ (conservation of building materials) การอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยาก หากทำภายใต้ความเข้าใจและการตระหนักถึงคุณค่า

          การดำเนินงานภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ ที่มีการก่อสร้างถนนด้านหน้าอาคารสูงกว่าตัวอาคาร ทำให้ต้องดีดตัวอาคารขึ้นให้และทำเสาตอม่อรองรับ เพื่อให้อาคารกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง องค์ประกอบส่วนที่เป็นไม้และถูกทำลายด้วยน้ำฝน แรงลม ก็ถูกทดแทนคืนใหม่ด้วยวัสดุเดิม และมีขนาดเท่าเดิม รวมทั้งการไสบังไบเก็บให้เหมือนแผ่นเดิมทุกประการ ลายฉลุที่ถูกตัดทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ทดแทนกลับคืนรูปแบบเดิม หลังคาเดิมเป็นสังกะสีก็คืนกลับด้วยสังกะสี ไม้ทุกแผ่น ตะปูทุกอัน ล้วนแต่บ่งบอกรูปแบบฝีมือช่าง รวมทั้งวิวัฒนาการของการก่อสร้างอาคารในอดีตที่ผ่านมา ไม้เดิมที่ถูกรื้อถอนออกไปได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดท่าโป่งแดง เพื่อจะนำมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้คนได้มาศึกษาเรียนรู้อีกครั้ง


ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยงบประมาณจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมอาคารดังกล่าวได้  ที่ตั้ง

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *